ค้นหาใน, เปลี่ยนร้าน
ด่วน! ได้เงินคืน 10% เมื่อช้อปจาก Rakuten ดูส่วนลด
ฉลองครบรอบ 10 ปี ZenMarket พบของที่ระลึกและส่วนลดมากมาย! ดูที่นี่

Jujutsu Kaisen 0 เดอะมูฟวี่: ด้วยรักและคำสาป

สำหรับแฟนๆ Jujutsu Kaisen หรือในชื่อไทยว่า มหาเวทย์ผนึกมาร คงจะพอทราบกันดีว่า ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า Jujutsu Kaisen 0: The Movie ซึ่งเป็นเรื่องราวก่อนที่เนื้อเรื่องหลักจะเริ่มต้นขึ้น

ส่วนในประเทศไทย มีกำหนดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ช้ากว่าที่ญี่ปุ่นเกือบครึ่งปี
ใครที่กำลังคิดจะจองตั๋วไปดูแล้วอยากรู้สปอยล์ หรือใครที่ดูแล้วและบังเอิญผ่านมาเจอบทความนี้เข้า แนะนำให้อ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะวันนี้เราจะมาทำการวิเคราะห์เนื้อเรื่องของภาคนี้ในแง่จิตวิทยากัน รับรองว่าสนุกและได้ความรู้แน่นอน

 

******** ระวังสปอยล์ *******  ระวังสปอยล์ *******  ระวังสปอยล์ *******  ระวังสปอยล์ *******  ระวังสปอยล์ ***** **

 

ในบทความจะมีการพูดถึง Jujutsu Kaisen 0 และเนื้อเรื่องในเวอร์ชั่นมังงะจนถึงบทที่ 120 (ภาคชิบูย่า) สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านมังงะจนถึงตอนนั้น และไม่อยากโดนสปอยล์ให้เสียอรรถรส เราขอย้ำอีกครั้งให้คุณข้ามบทความนี้ไปก่อนเลย เตือนแล้วนะ!

 

 

มาเริ่มจากตัวอย่างภาพยนตร์ที่เผยแพร่โดย TOHO Animation กันก่อนดีกว่า  ในตอนจบของเทรลเลอร์  เราจะได้ยิน โกโจ ซาโตรุ สามีแห่งชาติ พูดว่า

 

持論だけどね、愛ほど歪んだ呪いはないよ

“ก็แค่ความเห็นส่วนตัว แต่ฉันว่าไม่มีคำสาปไหนที่บิดเบี้ยวไปมากกว่าความรักแล้วล่ะ”

 

คำพูดของอาจารย์โกโจที่กล่าวกับตัวเอกของภาพยนตร์ ซึ่งก็คือ อคคทสึ ยูตะ ทำให้คนดูเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงไม่มีคำสาปที่บิดเบี้ยวไปมากกว่าความรักล่ะ? ความรักมันทำไม? ความรักคืออะไร? แล้วอะไรคือคำสาปกันแน่?

 

มาดูกันว่าคำกล่าวของโกโจมีมูลมากแค่ไหน?

 

1. แนวคิดเรื่องคำสาปในมหาเวทย์ผนึกมาร

ก่อนจะวิเคราะห์เนื้อเรื่องในฉบับมูฟวี่ เรามาดูกันก่อนว่าความหมายของ “คำสาป” ที่ถูกอธิบายไว้ว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจในเรื่อง Jujutsu Kaisen คืออะไร
หนึ่งใน
แก่นเรื่องของมหาเวทย์ผนึกมารก็คือการคงอยู่ของวิญญาณคำสาป (呪霊 Jyurei) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคำสาปนั่นเอง (呪い Noroi)

คำสาปใน jujutsu kaisen


Jyurei / วิญญาณคำสาป
คือวิญญาณที่เกิดจากพลังงานด้านลบของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ความเสียใจ ความเกลียดชัง ความแค้น ฯลฯ โดยพลังงานคำสาปจะถูกปล่อยออกมาจากมนุษย์ แล้วก่อร่างเป็นวิญญาณคำสาป และกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดมากมายหลายชนิด ที่ต้องให้นักไสยเวทย์จากในเรื่องมาช่วยปัดเป่า

แม้ว่าแนวคิดข้างต้นจะมาจากเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมา แต่ในชีวิตจริงก็มีแนวคิดแบบนี้เหมือนกัน นั่นก็คือทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ว่า อารมณ์ความรู้สึกคือพลังงาน คำว่าอารมณ์ ในภาษาอังกฤษคือ emotion มาจากภาษาละติน “emovere” ที่หมายถึง “เคลื่อนย้ายออกมา” และภาษาฝรั่งเศส “émouvoir” ซึ่งแปลว่า “ปลุก” ทำให้นักวิชาการด้านสุขภาพจิตจำนวนมากได้ให้นิยามความหมายของ emotion เอาไว้ว่า พลังงานเคลื่อนที่“

แผนภาพอารมณ์ความรู้สึกและพลังงานที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกแต่ละอย่าง

แผนภาพอารมณ์ความรู้สึกและพลังงานที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกแต่ละอย่าง
โดย Nummenmaa, Glerean, Hari และ Hietanen (2014)


ทีมวิจัย Nummenmaa et al., (2014) ได้อธิบายไว้ว่า พลังงานทางอารมณ์อาจทำให้เกิดความรู้สึกร้อนหรือหนาวภายในร่างกาย เราสามารถสัมผัสได้ถึงพลังงานทางอารมณ์ภายในร่างกาย และมันก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการกระทำได้ นอกจากนั้นอารมณ์ยังส่งเสริมให้เรากระทำการบางอย่าง เช่น เมื่อคนเรารู้สึกว่าถูกยั่วยุให้โกรธ ก็จะถูกกดดันให้ปกป้องตัวเองด้วยการวิ่งหนี สู้กลับ หรือไม่ก็นิ่งเงียบ

ทฤษฎีนี้ยังได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายกรณี เช่น เมื่อคนเรารู้สึกเขินอาย ใบหน้าก็จะร้อนและแดงขึ้น หรือเมื่อรู้สึกโกรธ ก็จะรู้สึกร้อนในหัวหรือหน้าอก สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ว่าอารมณ์ความรู้สึกนั้นส่งผลกระทบทางด้านพลังงานต่อร่างกายของเรา (ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น หรือ ลดลง)

อิตาโดริ ยูจิ

พลังงานคำสาปหลั่งไหลออกมาจากความโกรธของ อิตาโดริ ยูจิ ผลักดันให้เขาต้องต่อสู้กับวิญญาณคำสาป - ตอนที่ 12

 

อาจเรียกได้ว่า อารมณ์ ก็คือพลังงานที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อเหตุการณ์หนึ่ง การคงอยู่ของพลังงานลบที่มีเป้าหมายเจาะจง จึงถูกนำมาใช้เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดคำสาป (呪い Noroi) ขึ้นในเรื่องมหาเวทย์ผนึกมาร เหมือนกับที่ถูกใช้เป็นวิธีหนึ่งในการต่อสู้กับวิญญาณคำสาป (呪霊 Jyurei) 

ในเรื่อง คำว่า Jyurei หรือวิญญาณคำสาปนั้นถูกใช้สื่อถึงคำสาปซึ่งสำแดงออกมาในรูปร่างสัตว์ประหลาดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในขณะที่คำว่า Noroi ถูกใช้อธิบายคำสาปทั่วๆ แต่ก็มักจะถูกใช้แทนที่กันอยู่บ่อยๆ

วิญญาณคำสาปใน jujutsu kaisen

คำสาป (呪い Noroi) ที่สำแดงรูปลักษณ์ออกมาในแบบต่างๆ  กลายเป็นวิญญาณคำสาป (呪霊 Jyurei)
ยิ่งมันแข็งแกร่งเท่าไหร่ รูปร่างก็จะใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น เช่น มาฮิโตะ

 

ตัวอักษรคันจิ 呪 ของญี่ปุ่น ยังสามารถแปลได้หลายความหมาย เช่น การเคลื่อนไหว เวทมนตร์ คำสาป คาถา เครื่องราง ไสยศาสตร์ และเป็นคำที่มีพลังวิเศษ ที่อาจมีความหมายอย่างอื่น นอกเหนือจาก “คำสาป” มาลองดูตัวอย่างจาก 2 ฉากด้านล่างกันเถอะ

คำสั่งเสียของอิตาโดริ วาสุเกะ

คำสั่งเสียของคุณปู่วาสุเกะ คือหวังให้ยูจิช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อที่ยามตายเขาจะได้มีผู้คนรายล้อมมากมายจนไม่เหงา - บทที่ 1

 

ในมังงะ Jujutsu Kaisen จนถึงตอนปัจจุบัน หลายครั้งมีการกล่าวถึง คำสั่งเสีย ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึงแค่สองเหตุการณ์ ซึ่งก็คือความตายของ อิตาโดริ วาสุเกะ และ นานามิ เคนโตะ เหตุผลที่เราเลือกสองเหตุการณ์นี้ก็เพราะ

  1. คำสั่งเสียของทั้งสองคนไม่ได้เกิดจากอารมณ์ด้านลบที่มีต่อคนฟัง
  2. คำสั่งเสียนั้นส่งผลต่อบุคลิกของอิตาโดริ ยูจิ ซึ่งเป็นผู้ฟังอย่างเห็นได้ชัดเจน

ในคืนก่อนที่ปู่ของยูจิจะเสียชีวิต อิตาโดริ วาสุเกะ ได้แสดงท่าทีกังวลต่อหลานชาย ด้วยการย้ำเตือนยูจิให้รู้จักเก็บหอมรอมริบและสนุกกับชีวิตวัยเรียน และคุณปู่วาสุเกะก็ได้แสดงความสำนึกเสียใจในชีวิตของตน ในตอนที่พูดว่า “อย่าลงเอยเหมือนปู่”
อีกเหตุการณ์หนึ่ง ในช่วงลมหายใจสุดท้ายของนานามิ เคนโตะ ผู้เป็นรุ่นพี่ที่ให้คำปรึกษาและสั่งสอนยูจิ เขาดูสับสนระหว่างภาพภวังค์ฝันว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จ กับการนึกถึงภาระหน้าที่ในฐานะผู้ใช้คุณไสยได้ เขาสับสนระหว่างความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย กับความรู้สึกว่าได้ทำมามากพอแล้ว ท่ามกลางความสำนึกเสียใจต่อทางเลือกในชีวิต นานามิได้เห็นภาพหลอนของไฮบาระ ยู เพื่อนสมัยม.ปลายที่ตายไปแล้ว เธอบอกให้เขาทิ้งข้อความสุดท้ายไว้ให้ยูจิ ในช่วงลมหายใจสุดท้าย นานามิยังคงครุ่นคิดว่าถ้อยคำที่เขาพูดนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นคำสาปสำหรับยูจิ

คำสั่งเสียของนานามิ เคนโตะ

บทพูดของนานามิ เคนโตะ เรื่องที่ข้อความสุดท้ายอาจกลายเป็นคำสาปสำหรับอิตาโดริ ยูจิได้ - บทที่ 120


สองฉากด้านบนแสดงให้เห็นว่า ข้อความสุดท้ายจากคนที่กำลังจะตายนั้นมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ที่ได้รับฟังมันอย่างไร ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ อิตาโดริ ยูจิ พระเอกของเรื่องมหาเวทย์ผนึกมาร (ภาคปกติ) นั่นเอง หลังจากที่วาสุเกะจากไป เราจะเห็นได้ว่ายูจินึกถึงคำสั่งเสียของคุณปู่อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ กับเมื่อเขาต้องการเหตุผลให้ก้าวเดินต่อไป เช่นเดียวกันกับที่หลังจากนานามิตายไปแล้ว เราจะเห็นได้ว่ายูจิพยายามจะทำตามข้อความสุดท้ายของนานามิ ในการทำหน้าที่เป็นผู้ใช้คุณไสยให้สำเร็จลุล่วง แม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากก็ตาม ในเรื่องมีการอธิบายว่ายูจิถูกคำสั่งเสียของวาสุเกะกับนานามิ “ผูกมัด” เอาไว้ด้วย

จากเหตุการณ์ทั้งสองอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าอารมณ์ที่คนเรารู้สึกนั้นอาจมีความซับซ้อนมาก และไม่ได้รู้สึกเพียงหนึ่งอย่างในเวลาเดียว วาสุเกะกับนานามิรู้สึกเสียใจในชีวิต แต่ก็รู้สึกกังวลเรื่องยูจิด้วยเช่นกัน อารมณ์เหล่านั้นส่งผ่านมาทางคำพูดสุดท้ายที่พวกเขาเลือกที่จะบอกยูจิ ในกรณีนี้ เราอาจตีความข้อความสุดท้ายได้ว่าเป็น 呪 (noro) ซึ่งหมายถึงคำสาป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำสั่งเสียเหล่านั้น ทำให้ยูจิต้องใช้ชีวิตที่ยากลำบากในฐานะผู้ใช้คุณไสย เพื่อเติมเต็มความปรารถนาสุดท้ายของวาสุเกะกับนานามิ อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันคำสั่งเสียเหล่านั้นก็สามารถตีความได้ว่าเป็น 呪 (Jyu) ซึ่งหมายถึงเครื่องรางป้องกันตัว เพราะคำสั่งเสียเหล่านี้มอบพละกำลังให้ยูจิไม่ยอมแพ้ และยังคงเดินหน้าต่อไปได้

จึงสามารถสรุปได้ว่า ในโลกของ Jujutsu Kaisen อารมณ์ของมนุษย์นั้นมีพลังมหาศาล ไม่ใช่เพียงเพราะว่าอารมณ์ของมนุษย์อาจเป็นบ่อเกิดของคำสาปได้ แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่มันจะเป็นต้นกำเนิดของพลังอื่นๆ ซึ่งมาจากอารมณ์ด้านบวก เช่น ความห่วงใย หรือความรักจากครอบครัว

 

2. ความรักคืออะไร? มีรูปร่างแบบไหนบ้าง?

ต่อไปเราจะมาพูดคุยเรื่องความรัก ซึ่งเป็นหัวข้อหลักและธีมเรื่องในภาพยนตร์อนิเมะ Jujutsu Kaisen 0

ตั้งแต่โบราณกาลมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักปราชญ์ ตลอดจนถึงนักวิจัยต่างก็พยายามจะนิยามความหมายของความรัก น่าเสียดายที่แม้ว่าจะมีการถกเถียงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ แต่ความรักก็ไม่ใช่สิ่งที่จะนิยามกันได้โดยสมบูรณ์ นั่นเป็นเพราะว่าคำว่าความรัก ซึ่งในภาษาอังกฤษคือ "love" ถูกจัดให้อยู่ในหมวด umbrella term หมายถึง ศัพท์หรือวลีที่ให้ความหมายครอบคลุมในวงกว้าง ไม่กล่าวจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง umbrella term นั้นเกิดขึ้นมาจากการขาดแคลนคำศัพท์สำหรับใช้อธิบายคอนเซ็ปต์ต่างๆ ของความรัก

 

ความรักในรูปแบบความสัมพันธ์

ชาวกรีกได้แสดงความเข้าใจเรื่องความรัก ด้วยการตั้งชื่อเรียกให้กับความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ และนี่ก็คือความรักประเภทต่างๆ ในภาษากรีก

  1. Storge (ความรักแบบครอบครัว) : ประกอบไปด้วยความรักความเสน่หา การปกป้อง ความเกี่ยวดอง โดยรวมถึงความรักชาติบ้านเมืองและความภักดีต่อหมู่คณะด้วย
  2. Ludus (ความรักแบบฉาบฉวย/ ความรักวัยรุ่น) : ความรักระหว่างเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งมีความเย้ายวนใจ และความรู้สึกอันผันผวนเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
  3. Mania (ความรักแบบหมกมุ่น) : ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายยึดติดกับอีกคนมากเกินไป จนไม่อาจกระทำสิ่งใดได้โดยปราศจากอีกฝ่าย รูปแบบของ mania นั้นยังรวมถึงพฤติกรรมย่องตาม ความโหยหาการยอมรับจากอีกฝ่าย ความอิจฉาริษยาอย่างแรงกล้า และการใช้ความรุนแรง
  4. Eros (ความรักแบบโรแมนติกหมกมุ่น) : ประกอบไปด้วยตัณหา ราคะ และความสุขทางเพศ
  5. Philautia (ความรักที่เรามีให้กับตัวเอง) : เห็นคุณค่าตนเองด้วยการใส่ใจดูแลตนเอง ภูมิใจในสิ่งที่ตนเป็น และมีความนับถือตนเอง
  6. Philia (ความรักแบบมิตรภาพ) : ความรักฉันมิตรสหาย ซึ่งประกอบด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพยกย่อง
  7. Pragma (ความรักระยะยาว) : ความรักที่สุขสมบูรณ์ อันมีรากฐานมาจากความมุ่งมั่น ความอดทนอดกลั้น และความสนใจในระยะยาว
  8. Agape (ความรักแบบสากล) : ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ความเห็นอกเห็นใจ ความเอาใจใส่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดทั้งมวล รวมทั้งธรรมชาติ และพระผู้เป็นเจ้า

ใน Jujutsu Kaisen 0 นั้นมีการกล่าวถึงความสัมพันธ์และความรักในรูปแบบต่างๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ความสัมพันธ์ของอคคทสึ ยูตะ กับโอริโมโตะ ริกะ ผู้เป็นเพื่อนสมัยเด็กของเขานั่นเอง โดยเริ่มจาก Ludus หรือ puppy love ซึ่งเป็นเรื่องปกติในหมู่คนที่วุฒิภาวะยังไม่เติบโตเต็มที่ เราจะเห็นได้จากการสัญญาในสมัยเด็กของทั้งคู่ว่าจะแต่งงานกันเมื่อโตขึ้น หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของพวกเขาก็พัฒนาเป็น Mania โดยจะเห็นได้จากความอิจฉาริษยาขั้นรุนแรงของริกะเมื่อยูตะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่น และการครอบงำทางอารมณ์ความรู้สึกด้วยการเลิฟบอมบ์ (Love Bombing = การพูดจาและทำตัวหวานซึ้งให้ได้มาซึ่งความเชื่อใจและความรัก เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของตนเอง) จากยูตะ

อคคทสึ ยูตะ กับโอริโมโตะ ริกะ

ความสัมพันธ์ของยูตะ และ ริกะมีพื้นฐานมาจากความรักแบบ "Ludus" และเป็นธีมหลักของ Jujutsu Kaisen 0
แม้ว่ามันจะเป็นความรัก แต่ก็เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาค่อนข้างเป็นพิษจากริกะที่หึงหวงและยูตะที่ต้องการบงการ

ความสัมพันธ์ระหว่างยูตะ มากิ อินุมากิ และแพนด้าสามารถจัดว่าเป็น Storge หรือก็คือความรักพวกพ้อง โดยจะเห็นได้จากความภักดีต่อชั้นปี 1 ของโรงเรียนไสยเวท ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างโกโจ ซาโตรุ กับเกะโท สุงุรุ อยู่ในหมวด Philia ซึ่งเห็นได้จากความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างลึกซึ้งตั้งแต่สมัยเรียนด้วยกันแล้ว

 

โกโจ เกะโท และนักเรียนไสยเวท

ข้อความล่างรูปขวา : โกโจยังคงไว้วางใจในตัวเกะโทผู้เป็นเพื่อนรักของเขา จึงนับว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองคนนั้นคือ "Philia"
ข้อความบนรูปซ้าย : ยูตะมองเพื่อนเสมือนเป็นครอบครัว จึงเป็นความรู้สึกแบบ “Storge”


แม้ว่าความรักประเภทต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงไปด้านบนจะมีความแตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมคือ 
ความรักนั้นได้เชื่อมโยงคนหนึ่งให้เข้ากับอีกคนหนึ่งนั่นเอง

 

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในรูปแบบความผูกพัน

“ความรัก เป็นชื่อเรียกอีกอย่างของความผูกพัน” — Dr. Gabor Mate

ความผูกพัน คือสายใยทางอารมณ์อันลึกซึ้งที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเรากับฝ่ายตรงข้ามที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ความผูกพันกับผู้ดูแลในวัยเด็ก คือประสบการณ์ความรักอย่างแรกที่จะเกิดขึ้นกับคนเรา และประสบการณ์นี้เองที่จะทำให้เรารู้ว่าคนคนหนึ่งจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น มุมมองต่อโลก ต่อตนเอง และต่อสิ่งอื่นๆ ของคนคนนั้นก็ยังได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์แบบความผูกพันด้วยเช่นกัน

เดิมทีความสัมพันธ์แบบความผูกพันเป็นกลไกเพื่อการอยู่รอดของทารกวิธีหนึ่ง เนื่องจากทารกยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ แต่กลายเป็นว่าความต้องการความรักความผูกพันกลับไม่ได้จบลงในวัยเด็กหรือวัยรุ่น มนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคมยังจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกต่อกันและกันตลอดช่วงชีวิต

เหตุผลในการต่อสู้ของยูตะความปรารถนาของยูตะที่อยากมีสายสัมพันธ์กับใครบางคน ก็เป็นความต้องการทั่วไปของมนุษย์ในรูปแบบหนึ่ง - เล่ม 0 บทที่ 1 และ 4
 

จนถึงตอนนี้ เรายังไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ของยูตะกับผู้ที่ดูแลเขาในวัยเด็กเป็นอย่างไร แต่ก็เห็นได้ว่าเหตุผลในการมีชีวิตอยู่และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ใช้ไสยเวทของเขา ก็คือความปรารถนาที่จะสร้างความสัมพันธ์และเป็นที่ต้องการของผู้อื่น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ยูตะจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกกับผู้อื่นเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เขาถึงขั้นเต็มใจทำทุกอย่าง รวมทั้งพยายามฆ่าเกะโทและเสียสละตนเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดี (storge) กับเพื่อนร่วมชั้นของเขาด้วย 

  

ความผูกพันและการสูญเสีย 

อาจฟังดูคลุ้มคลั่งหากใครสักคนยินดีที่จะเสียสละตัวเอง แทนที่จะยอมสูญเสียความสัมพันธ์อันมีค่ากับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนั้นกลับเป็นที่เข้าใจได้ หากคุณรู้ว่าคนเรายอมทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ตนเองมีตัวตนอยู่ ถึงแม้ว่าทางเลือกสุดท้ายจะเป็นการคงตัวตนเอาไว้ในใจของผู้ที่เหลืออยู่ก็ตาม

เนื่องจากการสร้างความผูกพันผ่านการเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกกับผู้อื่น คือหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในการดำรงตัวตนอยู่ การสูญเสียความสัมพันธ์จึงอาจมองได้ว่าเป็นภัยคุกคามและเป็นเรื่องน่ากลัว
การสูญเสียความสัมพันธ์กับคนสำคัญ (ไม่ว่าจะเป็นเพราะความสัมพันธ์นั้นตึงเครียด แยกทางกัน หรือตายจากกัน) ย่อมหมายถึงการตัดขาดจากความผูกพัน เพื่อที่จะดำรงตัวตนอยู่ได้นั้น คนเราจำเป็นต้องก้าวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านจากความตรอมตรม และสร้างความผูกพันใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ให้ได้

“But what is grief, if not love persevering?”
ความตรอมตรมคืออะไร หากไม่ใช่ความรักที่ยืนยง? — Vision (จาก WandaVision) 

ความตรอมตรม คือความรู้สึกแรงกล้าที่เอ่อล้นขึ้นมาจากการสูญเสียบางคนหรือบางสิ่งที่สำคัญในชีวิตไป ความรู้สึกแรงกล้าที่เอ่อขึ้นมาอันเป็นผลจากการสูญเสียนี้มีพื้นฐานมาจากความรัก หรือกล่าวให้ชัดคือความผูกพันที่ยังมีอยู่ และพยายามที่จะดำรงอยู่ต่อไปในใจของทั้งบุคคลที่เหลืออยู่และบุคคลที่จากไป

ตามที่ได้เอ่ยถึงไปแล้วข้างต้น ความสำนึกเสียใจที่วาสุเกะกับนานามิประสบก่อนที่พวกเขาจะสิ้นลม ก็คือความตรอมตรมในรูปแบบหนึ่ง หรือก็คือความรู้สึกสูญเสียโอกาสที่จะได้มีชีวิตอยู่นั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น การทิ้งข้อความสุดท้ายก็คือความผูกพันรูปแบบหนึ่ง ที่มีต่อชีวิตและบุคคลสำคัญที่พวกเขาทิ้งไว้เบื้องหลัง

ในอีกด้านหนึ่งนั้น ยูจิรักษาความผูกพันที่เขามีต่อวาสุเกะและนานามิด้วยการรำลึกถึงและยึดถือข้อความสุดท้ายของพวกเขาเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ยูตะผู้สูญเสียริกะไปอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุ ก็ได้รักษาความผูกพันที่มีต่อเธอไว้ด้วยการต่อต้านความตายของเธอ

ยูตะสาปริกะอารมณ์ของยูตะที่ต่อต้านความตายของริกะนั้นเป็นเหมือนคาถา มันกลายเป็น "คำสาป" ที่ผูกมัดริกะเอาไว้กับโลกนี้ ทำให้เธอกลายเป็นวิญญาณคำสาป แม้ว่ายูตะจะทำไปเพราะเขารักริกะ แต่ก็ยังก่อให้เกิดคำสาปอยู่ดี


ในเรื่องมหาเวทย์ผนึกมาร
รูปแบบของความตรอมตรมที่เราเห็นได้จากยูตะและยูจิผู้เป็นตัวเอกของเรื่องนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งก็คือความหมกมุ่นต่อความหมายของชีวิตนั่นเอง สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่ง ในหมู่ผู้ที่เคยประจักษ์ความตาย หรือรู้สึกได้ถึงผลกระทบซึ่งเกิดจากความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก 


3. ทำไม “ความรักคือคำสาปที่บิดเบี้ยวที่สุด”?

จนถึงตอนนี้เราได้กล่าวถึงความรักที่อยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ และความรักที่อยู่ในฐานะความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกเพื่อให้คนเราดำรงตัวตนอยู่ได้กันไปแล้ว นอกจากนั้น ยังมีรูปแบบของความรักที่มักจะถูกเข้าใจผิดมากที่สุดอีกประการหนึ่ง ซึ่งก็คือความรักในแง่อารมณ์ความรู้สึกนั่นเอง

กระบวนการความรัก

[สีเหลือง : แรงผลักดันให้สร้างความผูกพันเพื่อมีชีวิตอยู่]
[สีเขียว : ความรู้สึก อารมณ์ภายในร่างกาย]
[สีน้ำเงิน : ปรากฏออกมาในรูปแบบความสัมพันธ์อันหลากหลายกับผู้อื่น]
ทุกอย่างนี้เป็นที่รู้จักกันว่าคือ "ความรัก" แต่ก็ยังไม่อาจอธิบายได้เต็มที่ว่าความรักคืออะไร

 

ความรักในแง่อารมณ์ความรู้สึก

ในกรณีนี้ ความรักคือรูปแบบของอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผลักดันให้คนเราสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมา ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร จะสดใสหรือทุกข์ทน ก็ล้วนไม่ได้รวมอยู่ในความรู้สึกรัก ความรักในแง่อารมณ์ความรู้สึกทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องผลักดันชั่วคราวเท่านั้น เช่นเดียวกับอารมณ์อื่นๆ

น่าเสียดายที่มุมมองของพวกเราที่มีต่อเรื่องความหมายของความรัก ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากค่านิยมในสังคมและสื่อต่างๆ คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าความรักคืออารมณ์ความรู้สึกแรงกล้าที่ดำรงอยู่ได้ยาวนาน คิดว่ามันเป็นเครื่องรับรองว่าความสัมพันธ์กลมเกลียวจะดำเนินต่อไปได้ คิดว่ามันเป็นการยอมรับอีกฝ่ายหมดทุกอย่างโดยปราศจากความต้องการเปลี่ยนแปลง และไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ความรักในแง่ของทักษะอย่างหนึ่ง นี่เป็นสาเหตุที่ว่า แม้จะมีอารมณ์ความรู้สึกรักระหว่างบุคคลหนึ่งกับคู่ของพวกเขา หรือระหว่างพ่อแม่กับลูก ความรุนแรงในความสัมพันธ์ก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่ดี

หากเราซื่อตรงต่อเรื่องความหมายของความรักจริงๆ แล้วล่ะก็ เราคงจะพูดได้ว่า ในความรักนั้นมีอารมณ์ความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้น คนคนหนึ่งสามารถมีความรักได้โดยที่เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับ มีคุณค่า มีความสุข ภาคภูมิใจ มีความหวัง หรือแม้แต่ร่มเย็นเป็นสุข แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็ยังคงรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง เดียวดาย ไม่ปลอดภัย อิจฉาริษยา โกรธเกรี้ยว หรือกระทั่งชิงชังได้ด้วยเช่นกัน ในภาพรวมนั้น ความรักสามารถนำมาซึ่งอารมณ์ความรู้สึกสุขสบาย รวมทั้งความรู้สึกน่าอึดอัดใจได้ในเวลาเดียวกัน (เป็นที่รู้จักกันในชื่ออารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านลบนั่นเอง)

ริกะ ยูตะ โกโจ และ เกะโท

ริกะปฏิเสธคำมั่นสัญญาของยูตะที่จะตายร่วมกันกับเธอ และโกโจเลือกที่จะไม่สาปแช่งเกะโทกับสิ่งที่เขาทำลงไป - เล่ม 0 Ch. 4

 

ความรักในแง่คำสาป

จากด้านบนทำให้เราเข้าใจได้ว่าความรักสามารถนำมาซึ่งอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ และใน Jujutsu Kaisen ก็มีการอธิบายว่าอารมณ์ด้านลบสามารถก่อให้เกิดเป็นคำสาปได้ ความรัก (ซึ่งปกติแล้วเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นอารมณ์ด้านบวก) กลับกลายเป็นหนึ่งในบ่อเกิดของคำสาป เช่นเดียวกับคำสั่งเสียก่อนตายที่เราได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นนั่นเอง

นอกจากนั้น เรายังได้พูดถึงความหมายต่างๆ ของตัวคันจิ ซึ่งมีทั้ง เวทมนตร์ คำสาป คาถา เครื่องราง ไสยศาสตร์ และคำที่มีพลังวิเศษ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสื่อกลาง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเครื่องผูกมัด เช่นเดียวกันกับที่ความรักในแง่อารมณ์ความรู้สึกได้เชื่อมโยงคนคนหนึ่งให้เข้ากับอีกคนหนึ่งผ่านทางความรู้สึกผูกพันนั่นเอง

หากทั้งสองฝ่ายต่างพึงพอใจ มีความสุข และความรักนั้นสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ก็เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์อันสดใส แต่หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกเป็นภาระ ทุกข์ทรมาน และติดกับอยู่ในความรัก มันก็เหมือนกับต้องคำสาป จริงไหม?

 

ความรักในแง่คำสาปที่บิดเบี้ยวที่สุด

อารมณ์ความรู้สึกนั้นโดยทั่วไปแล้วทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันให้คนเรากระทำการตอบสนองต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ หากเรารู้จักและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกอย่างแท้จริงแล้วละก็ เราจะสามารถควบคุมพลังงานอันเกิดจากอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ ให้เป็นไปตามหน้าที่ที่มันควรจะเป็นได้ น่าเสียดายที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าควรจะรู้สึกอย่างไร หรือต้องทำอะไรเพื่อควบคุมพลังงานให้สอดคล้องกับหน้าที่ของมัน ยิ่งไปกว่านั้น ความรักยังนำมาซึ่งอารมณ์ที่ขัดแย้งกันเอง และก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ เลย

ทำไมความรักถึงเรียกได้ว่าเป็นคำสาปที่บิดเบี้ยวที่สุด? ก็เพราะคนมากมายทำเรื่องบ้าๆ ในนามของ “ความรัก” โดยปราศจากความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าความรักคืออะไร และมันทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน ด้วยอารมณ์ความรู้สึกทั้งบวกและลบต่างๆ นานา รวมทั้งพลังงานที่อารมณ์เหล่านั้นสร้างขึ้น ความรักจึงสามารถส่งเสริมให้คนเรารู้จักอุทิศตนเองได้ และในขณะเดียวกัน มันก็สามารถทำให้คนเราเห็นแก่ตัวได้เช่นเดียวกัน
ในภาพยนตร์ Jujutsu Kaisen 0 และมังงะนั้นได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า

  • “ความรัก” ของยูตะที่มีต่อริกะ ทำให้วิญญาณของริกะที่ตายไปแล้วถูกผูกมัดอยู่กับโลกนี้ และกลายเป็นคำสาปอันรุนแรง
  • “ความรัก” ของริกะที่มีต่อยูตะ ทำให้เธอกลายเป็นวิญญาณคำสาปที่แก่กล้า จนได้ฉายาว่า “ราชินีคำสาป”
  • ยูตะเต็มใจที่จะอุทิศตนเองและ “ความรัก” ของตนให้กับริกะ แต่ต้องแลกกับการที่ริกะมอบพลังของเธอให้แก่ยูตะด้วย
  • ยูตะเต็มใจพลีชีพตนเองเพื่อเพื่อนที่เขา “รัก” เพราะยูตะค้นพบความหมายและเป้าหมายของชีวิตเมื่อได้อยู่กับเพื่อนๆ
  • โกโจเลือกสังหารเกะโทเพื่อสวัสดิภาพของโลก แต่ไม่ได้ฌาปนกิจศพของเขา เพื่อเก็บรักษาความผูกพันที่มีต่อเพื่อนรักของตนเอาไว้
  • วาสุเกะกับนานามิต่างก็รักยูจิ แต่ก็ยังผูกมัดยูจิผ่านคำสั่งเสีย ซึ่งอยู่ในรูปแบบความผูกพันยึดติดที่มีต่อชีวิตและคนสำคัญที่พวกเขาทิ้งไว้เบื้องหลัง

 

4. ส่งท้าย

“ความรัก” และ “คำสาป” นั้นเป็นแนวคิดที่ซับซ้อน ดูเหมือนว่าคนเราจะไม่มีวันถกเถียงเรื่องความรักได้จบสิ้น และก็คงจะไม่มีวันที่จะอธิบายความหมายของมันได้โดยสมบูรณ์ เมื่อคำนึงถึงสายใยทางอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกัน กับพลังงานทางอารมณ์อันหลากหลายที่เกิดจากความรักแล้ว สิ่งที่อาจารย์โกโจพูดก็ฟังดูเป็นไปได้ หรือก็คือ “ความรักคือคำสาปที่บิดเบี้ยวที่สุด” นั่นเอง

 

เขียนโดย : Balsa   | เรียบเรียงโดย แอดมิน ZenMarket

นักจิตวิทยาคลินิกผู้ชื่นชอบอนิเมะเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านความรัก แต่ครุ่นคิดถึงความหมายของความรักมากกว่าคนส่วนใหญ่

 

Jujutsu kaisen วิธีใช้ ZenMarket

 
บทความ| 15/04/2565 | Anime/Manga

 

ประตูสู่การช้อปออนไลน์จากญี่ปุ่น

ZenMarket คือ เว็บสั่งของจากญี่ปุ่น ที่จะช่วยคุณสั่งของและประมูลสินค้าจากร้านออนไลน์ในประเทศญี่ปุ่นพร้อม ส่งตรงถึงหน้าประตูบ้านคุณ วิธีการสั่งซื้อนั้นง่ายมาก อีกทั้งคุณยังสามารถติดต่อ แอดมินชาวไทย เมื่อมีข้อสงสัย
ถ้าคุณยังไม่มีบัญชีผู้ใช้ สมัครฟรี และรับทันที 
ZenPoints 500 แต้ม สำหรับการสั่งซื้อครั้งแรก! พิเศษ! ส่งพัสดุชิ้นแรกตอนนี้ รับฟรีทันที ZenPoints อีก 100 แต้ม! คุณสามารถรับ ZenPoints ได้ทุกครั้งที่ส่งพัสดุ จนถึงพัสดุชิ้นที่ 3

→ ดูสินค้าขายดีจากญี่ปุ่น