สาวกเรโทรเกมล้วนทราบดี ว่าตลาดญี่ปุ่นเป็นแหล่งสำคัญสุดๆ สำหรับการค้นหาเครื่องเกมวินเทจแสนเลอค่า และในขณะที่โมเดลดังๆ หลายรุ่นยังฝากความทรงจำวัยเด็กให้หลงเหลือเอาไว้ในใจของผู้เล่นทั้งหลาย ก็ยังมีเครื่องเกมรุ่นอื่นๆ ที่อาจจะดีไซน์ไม่โดนตาหรือสนุกไม่เท่าที่ใจเรียกร้อง ชีวิตของพวกมันจึงจบลงด้วยการถูกลืมเลือนอยู่ภายในประวัติศาสตร์เกมมิ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล
เราได้คัดเลือกเครื่องเกมเก่าญี่ปุ่น 10 รุ่นสุดแรร์ที่ถูกลืมมาให้คุณชมกันในบทความนี้ สงสัยแล้วล่ะสิว่าจะเป็นแบบไหนบ้าง
1. Sega Wondermega
Wonder Mega Sega
ปีที่จัดจำหน่าย : 1992เวอร์ชั่นที่ปรากฏ : Victor RG-M1, Sega, Victor RG-M2, X'Eye (USA)
ประเภท: เครื่องเกมสำหรับห้องนั่งเล่น
Sega Wondermega (ワンダーメガ) เป็นเครื่องเกมสุดหรูสำหรับเล่นภายในบ้าน ซึ่งผสมผสานคุณสมบัติของ Mega Drive และ Mega-CD อันเป็นอุปกรณ์เสริมเอาไว้ในเครื่องเดียว แน่นอนว่าตอนที่มันวางขาย ราคานี่พุ่งกระฉูดเกินกว่าราคารวมกันของสองเครื่องที่ว่าไปอีก… เลยเป็นสาเหตุที่ฉุดผลประกอบการให้ดิ่งลงเหวอย่างไม่ต้องสงสัย
ปัจจุบันมี Wondermega ที่ขายอยู่ในตลาดเรโทรเกม 4 รุ่นด้วยกัน ทุกรุ่นที่ว่านี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในช่วงปี 1992-1994 ในทางเทคนิคแล้วมันคล้ายคลึงกันมาก หลักๆ ต่างกันแค่ที่รูปลักษณ์ภายนอก เนื่องจากมันถูกออกแบบใหม่หลายครั้งเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ถ้าหากโมเดล Sega เป็นเวอร์ชั่นที่ต่างกับ Victor RG-M1 แค่นิดหน่อย รุ่น Victor RG-M2 ก็ยิ่งต่างน้อยกว่า โดยรุ่นนี้ได้วางขายที่สหรัฐอเมริกาในปี 1994 โดยใช้ชื่อว่า X'Eye พร้อมกับสูญเสียคุณสมบัติบางอย่างไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอยเกมแบบไร้สาย
ทางด้านตัวเกมนั้น Wondermega ได้ประโยชน์จากคลังเกมอันกว้างใหญ่ของ Mega Drive ไปเต็มๆ โดยรวมถึงเกมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับอุปกรณ์เสริมอย่าง Mega-CD ด้วย
2. Casio Loopy
Casio LOOPY
ปีที่จัดจำหน่าย : 1995เครื่องเกมและเครื่องพิมพ์สำหรับห้องนั่งเล่น
Casio Loopy (マイシールコンピュータールーピー) เปรียบได้กับ UFO แห่งวงการเรโทรเกมญี่ปุ่น ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าสาวๆ โดยเฉพาะ! Casio Loopy นั้นออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 1995 โดยเป็นเครื่องเกมที่มีซอฟต์แวร์สำหรับสร้างและพิมพ์สติกเกอร์ แล้วก็มีเกมสำหรับสาวน้อยอีกนิดหน่อยด้วย
แม้ช่วงแรกที่วางแผงจะประสบความสำเร็จอยู่บ้าง แต่ Casio Loopy ก็ต้องประสบปัญหาในด้านการแข่งขันกับเครื่องเกม 3D รุ่นแรกๆ ไม่ว่าจะเป็น PlayStation, Saturn หรือ Nintendo 64 เจอคู่แข่งแบบนี้เข้าไป Casio Loopy ที่สลัดภาพของเล่นเด็กไม่หลุดจึงถูกทอดทิ้งในท้ายที่สุด
3. Nintendo Virtual Boy
Virtual Boy Nintendo
ปีที่จัดจำหน่าย : 1995ประเภท: เครื่องเกมสำหรับห้องนั่งเล่นแบบมีจอภาพติดศีรษะ
Virtual Boy (バーチャルボーイ) ของค่าย Nintendo นั้นออกแบบโดยโยโกอิ กุมเปย์ ผู้สร้าง Game & Watch, Metroid และเกมบอยในตำนาน เจ้าเครื่องเกมเครื่องนี้เป็นตัวอย่างสัญลักษณ์ของคอนเซปต์ล้ำยุค ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือบรรพบุรุษของแว่น VR ที่เรารู้จักกันนี่แหละ
เนื่องจากเครื่องนี้ต้องตั้งอยู่นิ่งๆ บนชั้นวาง จึงไม่สามารถนำมาสวมบนศีรษะได้ มันถูกออกแบบมาสำหรับวางบนโต๊ะ โดยหันเข้าหาผู้เล่น ปฏิสัมพันธ์กับตัวเครื่องเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้จอยเกมที่ทำมาให้เข้ากับสรีระ ซึ่งเชื่อมต่อกับชุดอุปกรณ์จอภาพโดยตรง
Virtual Boy นั้นวางขายแค่ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา จากนั้นด้านผลประกอบการก็ประสบความล้มเหลวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยขายออกไปแค่ราวๆ 8 แสนเครื่องเท่านั้น จัดว่าเป็นเครื่องเกมที่ทำกำไรยอดแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Nintendo เลยทีเดียว! ไหนจะเพราะเกมในคลังมีให้เลือกสุดจะน้อย ภาพที่มีแค่ 2 สี (แดงกับดำ) เล่นแล้วคลื่นไส้ ปวดหัว ท่าทางในการเล่นก็ช่างไม่สบายตัวเอาเสียเลย… มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหมู่ผู้เล่นอย่างรุนแรงเสียจนกำหนดการวางขายในยุโรปถูกยกเลิกไป และแล้วโปรเจกต์นี้ก็ถูกทอดทิ้งภายในไม่ถึงหนึ่งปีถัดมา นับตั้งแต่วางขายเป็นครั้งแรก
มีเพียง 22 เกมเท่านั้นที่ปล่อยออกมาสำหรับเล่นกับเครื่อง Virtual Boy โดยในบรรดานั้นได้รวม Mario's Tennis , Vertical Force , V-Tetris กับ Wario Land เอาไว้ด้วย
4. Konami Hyper Boy
Hyper Boy Konami
ปีที่จัดจำหน่าย : 1991ประเภท : อุปกรณ์เสริมเกมบอย
Hyper Boy (コナミハイパーボーイ) ของ Konami นั้นไม่ใช่ว่าเป็นตัวเครื่องเกมเองจริงๆ แต่เป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สร้างมาเพื่อเสริมประสบการณ์ในการเล่นเกมบอยแบบคลาสสิกให้ดียิ่งขึ้นต่างหาก เจ้าเครื่องนี้มาในรูปแบบตู้เกมขนาดจิ๋วโดยมีช่องสำหรับต่อกับเครื่องเกม Hyper Boy นั้นมาพร้อมกับจอยสติ๊ก กระจกแว่นขยาย แสงไฟคู่ และลำโพงสเตอริโอ
เป้าหมายของ Konami คือการเสริมข้อด้อยใหญ่ๆ ของเครื่องเกมบอย ที่ทั้งจอเล็กและมืดไปหน่อย Hyper Boy จึงเป็นมากกว่าเครื่องเกม เพราะมันคืออุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้คุณได้เพลิดเพลินมากขึ้น เจ้าเครื่องนี้วางขายสำหรับลูกค้าในประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทไม่เคยตั้งใจผลักดันให้มันออกสู่ตลาดนานาชาติ แต่ถ้าคุณไม่มีเกมบอย ก็มองผ่านไปได้เลย
5. Epoch TV Block
Epoch TV Block
ปีที่จัดจำหน่าย : 1979ประเภท : เครื่องเกมสำหรับห้องนั่งเล่น
Epoch TV Block (エポック社テレビブロック) โมเดลที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาเครื่องเกมสุดแรร์ที่ถูกลืมเลือนซึ่งเราคัดเลือกมาในบทความนี้ โดยมีประวัติมาตั้งแต่ปี 1979 เครื่องเกมที่เหมือนของเล่นเด็กสีแดงสวยสดใสและขอบมนๆ รุ่นนี้ ช่างดูละม้ายคล้าย Color TV-Game 6 ของ Nintendo ซึ่งปรากฏสู่สายตาชาวโลกเมื่อปี 1977
Epoch TV Block นั้นมีทั้งสิ้น 7 เกมด้วยกัน หลักๆ แล้วก็คือเกมป็องหลากหลายรูปแบบซึ่งมีกราฟฟิกสุดมินิมอลนั่นแหละ ด้วยดีไซน์อันเป็นแบบฉบับของยุคปลายปี 70s ทำให้มันเป็นสินค้าในฝันสำหรับนักสะสมของแรร์เลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากวิดีโอแกะกล่องและทดสอบคลิปนี้ (ภาษาญี่ปุ่น)
6. Bandai FL Mobile Suit Gundam
Bandai FL Mobile Suit Gundam
ปีที่จัดจำหน่าย : 1982ประเภท : เกมอิเล็กทรอนิกส์
ด้วยหน้าตาที่ดูคล้ายเครื่อง Minitel แบบถูกจับมาแต่งตัวใหม่ Bandai FL Mobile Suit Gundam (バンダイFLガンダム) นั้นประสบความสำเร็จในการขายเป็นอย่างสูงในญี่ปุ่น! ความจริงแล้วเจ้าเครื่องนี้ออกสู่ตลาดในปี 1982 อันเป็นช่วงที่ซีรี่ส์กันดั้มกำลังโด่งดังเป็นพลุแตก และในเวลานั้นตลาดเกมอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นก็อยู่ในจุดสูงสุดด้วยเช่นกัน
ภายใต้ดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมตู้นั้นแอบซ่อนเกมยิงเอาไว้ 5 เฟสด้วยกัน โดยใช้จักรวาลในอนิเมะแนวดวงดาวของสตูดิโอ Sunrise เป็นพื้นฐาน แม้ว่าเจ้าเครื่องนี้จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักในประเทศของเรา แต่มันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่นเลยแหละ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสได้เจอะเจอเครื่องเกมรุ่นนี้ได้บ่อยตามร้านค้ามือสอง และในเว็บไซต์ประมูลออนไลน์เช่น JDirectItems Auction
7. Tomy 16 Bit Graphic Computer Pyuta TP 1000
16 Bit Graphic Computer Pyuta TP 1000 Tomy
ปีที่จัดจำหน่าย : 1982เวอร์ชั่นที่ปรากฏ : TP100, TP2001, TP1007
ประเภท : คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
Tomy 16 Bit Graphic Computer Pyuta TP 1000 (トミー 16ビットグラフィックコンピューター ぴゅう太 TP1000) เป็นอุปกรณ์ทรงเหลี่ยมที่ประกอบไปด้วยคีย์บอร์ดแบบเรียบง่าย มันอยู่กึ่งกลางระหว่างเครื่องเกมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลประสิทธิภาพต่ำ โดยพื้นฐานแล้ว Pyuta นั้นทำมาให้คุณเล่นเกมง่ายๆ ได้นั่นแหละ หรือจะสร้างเกมก็ยังไหว!
เจ้าเครื่องนี้วางแผงอยู่ตามร้านขายของเล่น และแม้ว่าจุดเริ่มต้นของมันจะดูดีมีอนาคตไกล แต่กลับต้องประสบปัญหาอย่างรวดเร็วจากการแข่งขันกับเครื่อง Famicom ของ Nintendo ซึ่งออกมาในเดือนกรกฎาคม 1983
แม้ว่าทางด้านผลประกอบการจะล้มเหลว Pyuta ก็ยังมีผู้สืบทอดต่อมาอีก 2 รุ่น ได้แก่ Pyuta Jr. TP2001 (トミー ぴゅう太Jr.) ซึ่งโฟกัสกับเกมและการวาดภาพ โดยมีฟังก์ชันที่ช่วยให้คุณสามารถวาดภาพในจอโทรทัศน์ของคุณเองได้ และอีกรุ่นนั้นก็คือ Pyuta mk2 TP1007 (トミーぴゅう太mk2)
8. Bandai WonderSwan
Wonderswan Bandai
ปีที่จัดจำหน่าย : 1999เวอร์ชั่นที่ปรากฏ : Wonderswan, Wonderswan Color, SwanCrystal
ประเภท : เครื่องเกมแบบพกพา
Wonderswan (ワンダースワン) นั้นเป็นอีกหนึ่งผลงานของโยโกอิ กุมเปย์ มันก็คือเครื่องเกมพกพาที่ออกแบบโดย Bandai นั่นเอง
แม้ว่าคู่แข่งโดยตรงอย่างเกมบอยและ Neo Geo Pocket จะเปลี่ยนมาทำเครื่องเกมภาพสีตั้งแต่ปีก่อนหน้าแล้ว WonderSwan รุ่นแรกก็ยังคงออกมาเป็นเครื่องเกมภาพขาวดำอยู่ ด้วยเหตุนั้นมันจึงดูไม่น่าสนใจเท่าไหร่นักในสายตาคนทั่วไป แม้ว่าราคาจะน่าคบมาก และอายุแบตเตอรี่จะยาวนานใช้ได้เลยก็ตาม
หนึ่งปีถัดมา WonderSwan Color (ワンダースワンカラー) ถึงเพิ่งจะวางแผง… แต่น่าเสียดายที่ออกขายช้าเกินกว่าจะแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดจาก Game Boy Color ได้ทันท่วงที ถึงอย่างนั้นก็มีบางเกมที่ทำออกมาได้โดดเด่นอยู่เหมือนกัน เช่น Final Fantasy (ขายได้กว่า 350,000 ชุด) Final Fantasy II และ IV หรือแม้กระทั่งภาคต่างๆ จากซีรี่ส์ SD Gundam G GENERATION
รุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้าย SwanCrystal (スワンクリスタル) นั้นเป็นวิวัฒนาการของ WonderSwan Color อีกทอดหนึ่ง มันวางขายในปี 2002 ที่ญี่ปุ่นประเทศเดียว โดยมาพร้อมพัฒนาการอันโดดเด่นบางอย่าง แต่สุดท้ายก็หายไปจากตลาดในปี 2003
9. Bandai Playdia
Playdia Bandai
ปีที่จัดจำหน่าย : 1994ประเภท : เครื่องเกมสำหรับห้องนั่งเล่น
Playdia (プレイディア) เป็นอีกหนึ่งเครื่องเกมจาก Bandai ที่วางตลาดในปี 1994 โดยมีเครื่องอ่าน CD-Rom ติดตั้งมาด้วย ที่เห็นว่าหน้าตาของมันฉูดฉาดบาดตาเหมือนของเล่นเด็ก ก็เพราะเครื่องเกมรุ่นนี้สร้างมาเพื่อขายเด็กๆ ในวัยเรียนเป็นหลักนั่นเอง
Playdia เป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องเกม 8-bit รุ่นที่ 5 เพียงเครื่องเดียว ในยุคที่มีเครื่องเกม 64-bit เครื่องแรกออกสู่ตลาดแล้ว… สิ่งนี้คงอธิบายได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่าทำไม Playdia ถึงล้มเหลวในด้านการผลประกอบการ
10. Bandai Electronics Cross Highway
Cross Highway Bandai Electronics
ปีที่จัดจำหน่าย : 1981ประเภท : เกมอิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา
นี่แหละเพชรแท้ในบรรดาเครื่องเกมย้อนวัยสำหรับนักสะสมทั้งหลาย Bandai Electronics Cross Highway (クロスハイウェイ バンダイ) นี้เป็นเครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ประเภท Game & Watch ซึ่งออกสู่ตลาดในปี 1981
เป้าหมายของเกมคือการข้ามถนนโดยหลบรถที่วิ่งมา (วิดีโอเป็นภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งจะมีเครื่องกีดขวางคอยโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ แบบสุ่ม
ภายใต้ความเรียบง่ายของคอนเซ็ปต์นี้ กลับแอบซ่อนเกมซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าโคตรยาก! ตัวเครื่องที่มีลักษณะมันเงานี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของค่านิยมด้านความงามจากยุค 80s ซึ่งยากจะลอกเลียนแบบ เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการล่อลวงบรรดาคนรักเรโทรเกมญี่ปุ่นได้ง่ายๆ แล้ว…
11. แถม : Game Gear Coca Cola Edition
Bonus : Game Gear Coca Cola édition
ปีที่จัดจำหน่าย : 1994ประเภท : เครื่องเกมพกพาขนาดเล็ก
Game Gear Coca Cola Edition (ゲームギア コカ コーラ) ซึ่งมีสีแดงสดใสสวยงามนี้ เป็นอิดิชั่นพิเศษของ Sega Game Gear เครื่องเกมพกพาในตำนาน โดยมันมาพร้อมกับเกมแพลตฟอร์ม "Coca-Cola Kid" ที่ปล่อยออกมาในปี 1994
เครื่องเกมสุดแรร์ที่ถูกลืมเลือนเหล่านี้ ล้วนพบเห็นได้จากเว็บไซต์ประมูลออนไลน์อย่าง JDirectItems Auction Japan หรือ Mercari
คุณค้นพบเครื่องเกมในฝันจากในลิสต์ที่เราคัดมาให้แล้วหรือยัง? ถ้าพบแล้ว ที่เหลือก็แค่กดยืนยันการสั่งซื้อกับ ZenMarket เท่านั้น!
จะสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ญี่ปุ่นด้วย ZenMarket ได้อย่างไร?
ZenMarket เป็นตัวกลางในการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น หรือจะเรียกว่าบริการสั่งซื้อสินค้าก็ได้ เราจะช่วยให้คุณสามารถสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ญี่ปุ่นได้ แม้ว่าคุณจะไม่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็ตาม
แน่นอนว่าคุณสามารถใช้บริการ ZenMarket ในการสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ต่างๆ ได้ เพียงแค่คัดลอก URL สินค้าแต่ละชิ้นที่คุณต้องการ แล้วนำมาวางลงในแถบค้นหาของ ZenMarket
หากคุณยังไม่เคยสั่งซื้อสินค้ากับเรามาก่อน ก็สามารถคลิกลิงค์ด้านล่างแล้วทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในคู่มือของเราเพื่อสร้างบัญชีใน ZenMarket ได้เลย
ถ้าต้องการดูวิธีสั่งซื้อสินค้าที่คุณต้องการจากเว็บไซต์ญี่ปุ่นผ่าน ZenMarket แบบทีละขั้นตอน โดยที่คุณเองไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาญี่ปุ่น ก็ลองอ่านคู่มือฉบับสมบูรณ์ของเราได้ที่ :
วิธีสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ญี่ปุ่น
ขอให้สนุกในการช้อปปิ้งกับ ZenMarket!
